สตอรี่บอร์ด มีประโยชน์อย่างไรกับงาน production
ในการสร้างบ้านขึ้นมาซักหลัง สถาปนิกและวิศวกรจะใช้พิมพ์เขียวในการบอกรายละเอียด ขนาด, วัสดุ, และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการก่อสร้าง ส่วนในการผลิตงาน production สำหรับโฆษณา, หนัง, การ์ตูน, หรือสื่อใดก็ตามก็จำเป็นจะต้องมีพิมพ์เขียวในการทำงานเช่นเดียวกัน ซึ่งพิมพ์เขียวนั้นก็คือสตอรี่บอร์ดนั่นเอง
รูปภาพจากคอร์ส Essentials of storyboarding โดย Mark Simon
คำถามต่าง ๆ ในการทำงาน production เช่น เราจะใช้มุมกล้องอย่างไรในซีนนี้?, ฉากนี้จะต้องใช้ special effect ยังไงบ้าง?, แต่ละซีนต้องเซ็ตฉากขึ้นมาแบบไหน?, การเขียนสตอรี่บอร์ดจะสามารถบอกถึงรายละเอียดต่าง ๆ ของคำถามเหล่านี้ได้ ทางทีมงานแต่ละฝ่ายจะใช้สตอรี่บอร์ดนี้เพื่อเช็ครายละเอียดของงานว่าจะต้องเตรียมการอะไรบ้างในการถ่ายทำ
งบประมาณที่ต้องใช้, กำหนดตารางเวลาของคิวการถ่ายทำ, หรือการเตรียมการด้านต่าง ๆ เช่น ของที่จะต้องใช้ในการทำ prop ต่าง ๆ, เครื่องแต่งกายนักแสดง, การทำ special effect, การเตรียมการซ้อมของสตั้นท์แมน, การเตรียมอุปกรณ์กล้องและเครื่องมือในการถ่ายทำ, และอื่น ๆ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทีมงานทุกฝ่ายจะทำงานโดยอ้างอิงจากสตอรี่บอร์ดทั้งสิ้น เมื่อได้แตกย้อย detail ในส่วนต่าง ๆ ออกมาจนครบก็จะสามารถประเมินงบประมาณในการถ่ายทำออกมาได้
รูปภาพจากคอร์ส Essentials of storyboarding โดย Mark Simon
สคริปต์ในสตอรี่บอร์ดอาจจะเป็นการเขียนแบบสั้น ๆ อธิบายง่าย ๆ ไม่กี่บรรทัด แต่สิ่งที่ผู้กำกับคิดอาจจะยิ่งใหญ่มากกว่าสิ่งที่สตอรี่บอรด์แสดงไว้ก็ได้ เช่น ในซีนนั้นอาจจะเขียนบรรยายแค่ว่า พระเอกกำลังแก้แค้นตัวร้ายด้วยการขว้างขวดใส่กระจกหน้ารถ แต่สิ่งที่ผู้กำกับอยากให้เป็นในการถ่ายทำจริงอาจจะให้รถของตัวร้ายเป็นรถสปอร์ตคันหรูแล้วมีการระเบิดจากการขว้างขวดของพระเอก ทำให้มีรถชนกันเป็น 10 คันจนวินาศสันตะโรก็เป็นได้ ซึ่งก็จะทำให้ใช้งบประมาณมากมายในการถ่ายทำซีนนั้น ๆ
การเขียนสตอรี่บอร์ดที่ดีจะต้องมีเขียน note บอกสิ่งจำเป็นต่าง ๆ ใน shot หรือ scene นั้น เพื่อให้ทีมงานในฝ่ายต่าง ๆ สามารถรู้ว่าทีมตัวเองต้องเตรียมการอะไรบ้างได้อย่างครบถ้วน ซึ่งการทำงานที่รัดกุมและรอบครอบก็จะช่วยในการเซฟงบประมาณในการถ่ายทำได้อย่างมหาศาล ทำให้ได้ประโยชน์ในเรื่องของการทำกำไรได้มากขึ้น
รูปภาพจากคอร์ส Essentials of storyboarding โดย Mark Simon
ความแตกต่างของสตอรี่บอร์ดงาน live-action และงานการ์ตูน animation
ในการเขียนสตอรี่บอร์ดสำหรับงานที่ต้องใช้คนแสดงกับงานสำหรับการ์ตูน animation จะมีความแตกต่างกันอยู่ สไตล์ในการ design รูปแบบการวาดก็จะต่างกันด้วย ตัวอย่างเช่น งานโฆษณาที่ใช้คนแสดงจริง การวาดสตอรี่บอร์ดที่นำเสนอออกมาก็ไม่ควรเป็นการวาดแบบการ์ตูนที่เป็นหัวโตตัวเล็ก ควรที่จะวาดออกมาในแบบ realistic จึงจะดูเป็นมืออาชีพและเหมาะสมกว่า เป็นต้น
การวาด character ในสตอรี่บอร์ดสำหรับงานคนแสดง เราไม่จำเป็นต้องวาดให้เหมือนกับนักแสดงจริง ๆ ก็ได้ เพราะเวลาทีม casting คัดเลือกนักแสดงมาเล่น เขาก็ไม่ได้เลือกให้เหมือนกับหน้าตาที่เราวาดในสตอรี่บอร์ด ดังนั้นแค่วาด character เพื่อเป็นไกด์ไลน์ให้ออกมาตรงกับสิ่งที่ผู้กำกับต้องการก็พอ และสิ่งที่สำคัญคือเราควรวาดให้หน้าตาตัวละครต่าง ๆ ออกมาดูแตกต่างกันอย่างชัดเจนในกรณีที่มีตัวละครหลายตัวในเรื่องนั้น เพื่อให้สามารถแยกออกและไม่เกิดความสับสนในการสื่อสาร เช่น ตัวนึงหัวล้าน ตัวนึงอ้วน ตัวนึงผอม เป็นต้น
ส่วนการวาด character ในสตอรี่บอร์ดสำหรับงาน animation นั้นก็จะมีวิธีการทำงานที่ต่างกันออกไป นักวาดสตอรี่บอร์ดควรวาดโดยอ้างอิงตาม character ที่ทางทีมงานสร้างเอาไว้ให้เหมือนที่สุด เนื่องจากในการทำงานของ animation สตูดิโอส่วนใหญ่มักจะทำงานต่อโดยวาด copy จากสตอรี่บอร์ดที่เราวาดนั้นเลย ทั้งตำแหน่งการจัดองค์ประกอบในภาพ, สีหน้าท่าทางตัวละคร ดังนั้นงาน final cut กับงานตอนที่ยังเป็นสตอรี่บอร์ดนั้นจะดูใกล้เคียงกันมาก
รูปภาพจากคอร์ส Essentials of storyboarding โดย Mark Simon
ส่วนการเขียนสตอรี่บอร์ดสำหรับงาน CG หรือ 3D animation นั้นจะเหมือนกับงานแบบคนแสดงจริง คือไม่ต้องวาดให้เหมือนกับ character เป๊ะๆ เนื่องจากในการทำงานจริงที่เกิดขึ้นอาจมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมแก้ไขในการสร้าง model 3D character นั้นในระหว่างการทำงานได้บ่อยครั้ง
รูปภาพจากคอร์ส Essentials of storyboarding โดย Mark Simon
และนี่ก็เป็นเนื้อหาส่งท้ายที่พูดถึงแง่มุมต่าง ๆ ในการทำสตอรี่บอร์ดจากนักวาดสตอรี่บอร์ดมืออาชีพที่ผ่านการทำงานมาอย่างโชกโชน หวังว่าเนื้อหาเหล่านี้น่าจะประโยชน์กับทุกท่านไม่มากก็น้อยครับ